ไทยจากระบบทาสมาสู่ระบบศักดินา

ไทยได้ผ่านพ้นระบบทาส และเริ่มเข้าสู่ระบบศักดินาตั้งแต่เมื่อไหร่ ปัญหานี้ต้องสันนิษฐานเอาด้วยอัตวิสัย เพราะหาหลักฐานไม่ได้ การเดาที่ใกล้เคียงที่สุดก็คือ ไทยผ่านพ้นระบบทาสและย่างเข้าสู่ระบบศักดินาก็ตรงตอนหัวเลี้ยงหัวต่อก่อนตั้งอาณาจักรสุโขทัยนั่นเอง รัฐทาสของไทยสมัยก่อนหัวเลี้ยงหัวต่อนี้ ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของรัฐทาสเขมร ดังได้กล่าวมาแล้วและแน่นอนพวกผู้ครองรัฐทาสของไทยในครั้งนั้นได้ต่อสู้กับรัฐทาสของเขมรอย่างทรหด รัฐทาสของไทยคงจะได้อำนาจอิสระคืนมาอีกครั้งในตอนที่เขมรถูกพวกจามรุกราน ใน พ.ศ. 1720 ในคราวนั้นกองทัพจามขยี้เมืองหลวงของเขมรเสียย่อยยับไม่ผิดอะไรกับการปล้นสะดม รัฐทาสของเขมรแตกกระจัดกระจายหมดสิ้นอำนาจไปถึงกว่า 10 ปี ในระหว่างนี้ไทยคงจะปลดแอกเขมรออกได้ทั่วกัน พวกนายทาสของไทยคงคุมกันเข้าตั้งเป็นรัฐต่างๆได้สำเร็จ แต่ชตาของรัฐทาสไทยทั้งปวงไม่ยังยืน พ้นจากสิบปีไปแล้วพวกเขมรกลับตั้งข้อแข็งเมืองต่อพวกจามได้สำเร็จ ผู้ที่ตั้งข้อแข็งเมืองนี้ ก็คือ ชัยวรรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-หลัง 1744) กษัตริย์ของรัฐทาสเขมรองค์นี้เข้มแข็งผิดปกติ บุกเข้าไปจนถึงเมืองหลวงจาม ถอดพระเจ้าแผ่นดินจามเสีย ตั้งคนของตนขึ้นแทน เสร็จแล้วก็หันมาเล่นงานรัฐทาสต่างๆ ของไทย บุกเข้ายึดได้ลพบุรี ถอดเจ้าทาสไทยลพบุรีลงเสีย แล้วตั้งลูกชายขึ้นเป็นเจ้าทาสแทน ลูกชายคนนี้ชื่อ อินทรวรรมัน ทางเหนือรุกไล่ขึ้นไปจนถึงสุโขทัย ตั้ง โขลญลำพัง ขึ้นเป็นผู้ครองรัฐ แล้วรุกรานเลยขึ้นไปจนถึงอาณาจักรพุกามรัฐทาสของไทย จึงถูกขยี้ลงอย่างย่อยยับ มิหนำซ้ำพวกชุมชนของไทยทางเหนือ (คืออาณาจักรไชยปราการ ของท้าวมหาพรหมครั้งกระโน้น) ยังถูกพวกมอญรุกรานจนแตกกระเจิงลงมาอยู่เมืองแปป (ในกำแพงเพชร) เมื่อราว พ.ศ. 1731 รัฐทาสของไทยจึงระส่ำระสาย และทลายลงอย่างไม่มีชิ้นดี

เมื่อพวกเจ้าทาสทั้งปวงถูกจับถูกถอด โดยฝีมือเขมร พวกทาสก็หลุดพ้นออกเป็นไท และชุมนุมกันอยู่เป็นแห่งๆ ทำนองเดียวกันกับที่ยุโรปเคยเป็นมาในสมัยเมื่อพวกอนารยชนรุกรานพวกเสรีชนเหล่านี้ ต่างเข้าพึ่งพาผู้ที่มีกำลังเหนือกว่า และรวมกันอยู่เป็นเหล่าๆ ความสัมพันธ์ในรูปแบบศักดินาคงจะเกิดขึ้นในสังคมไทยในตอนนี้ แบบเดียวกับที่เกิดมาแล้วในยุโรปตามที่กล่าวมาแต่ต้น พวกชุมนุมของไทยเหล่านี้ก็คงต้องถูกเขมรกดขี่รุกรานบังคับให้ส่งส่วยสาอากรเอาตามอำเภอใจ ความขัดแย้งหลักของสังคม ขณะนั้นจึงเป็นความขัดแย้งระหว่างนายทาสเขมร กับชุมชนไทยที่ล้มละลายมาจากระบบทาส กษัตริย์ทาสของเขมรได้ช่วยปลดปล่อยประชาชนไทยให้พ้นจากระบบทาสไปแล้วเปราะหนึ่ง แต่ระบบทาสเปราะใหม่ที่ไทยจะต้องปลดก็คือ นายทาสเขมร

ความเคลื่อนไหวของประชาชนไทยทั้งมวล เพื่อปลดแอกตนเองในยุคนั้น ที่ขึ้นชื่อลือชาก็คือ การปลดแอกภายใต้การนำของ “นายร่วง” ลูกชายของ “นายคงเครา” หัวหน้าชุมชนไทยที่เมืองลพบุรี ชุมชนไทยที่เมืองลพบุรีในครั้งนั้น ต้องถูกนายทาสเขมรบังคับให้ส่งส่วยประหลาด นั่นคือ “ส่วยน้ำ” ส่วยน้ำนี้ไม่ใช่เรื่องโกหกเลย เป็นเรื่องจริง ที่ว่าจริงก็เพราะพวกเจ้าทาสใหญ่เมืองเขมรพยายามเหลือเกินที่จะยกตนขึ้นเป็นเทวดาให้ได้ ลัทธิที่จะเป็นเทวดานี้ ในเมืองเขมรสมัยโน้นเรียกกันว่า “ลัทธิเทวราช” God-king cult พวกนายทาสขนาดเล็กขนาดย่อมล้วนคลั่งลัทธินี้กันทั้งนั้น ฉะนั้นไม่ว่าจะทำอะไร จะต้องให้มีลักษณะเป็นการกระทำอันศักดิสิทธิ์ของเทวดาเสมอไป เช่น จะอาบน้ำ กินน้ำ ก็ต้องสร้างสระอาบน้ำให้มีรูปเหมือนทะเลน้ำนม (คือเกษียรสมุทร) ตรงกลางสระก็ทำเป็นรูปพญาอนันตนาคาราชขอตัวให้เป็นที่นอนของพระนารายณ์ บนนั้นเป็นที่ตั้งเทวรูปของพระนารายณ์ ทั้งนี้ เพื่อให้เข้ากับตำราของพวกพราหมณ์ ที่ว่าพระนารายณ์นอนหลับบนหลังนาคในสะดือทะเลน้ำนม คราวนี้เมื่อจะสรงน้ำในงานพิธี เรื่องมันก็ต้องใช้น้ำศักดิสิทธิ นั่นคือใช้น้ำจากทะเลสาบชุบศรที่เชื่อกันว่า พระนารายณ์ลงมาตั้งพิธีชุบศรให้มีฤทธิ ณ ที่นั้น เมื่อทะเลชุบศรนั้นอยู่ในเมืองลพบุรี เจ้าทาสใหญ่ก็เกณฑ์พวกทาสไทยทั้งหลายให้ขนน้ำไปถวายเป็นรายปีทุกปี การสรงน้ำนี้ทำกันในเดือนสี่ พวกชุมชนไทยจึงต้องช่วยกันบันทุกน้ำด้วยโอ่งไหใส่เกวียนรอนแรมไปเมืองเขมรบุกกันไปเป็นเดือนๆ ขากลับก็ต้องกินเวลาอีกนับเป็นเดือน ตกลงต้องถูกแอกของรัฐทาสเขมรกดขี่เสียจนงอมพระรามไปตามๆกัน

เรื่องที่เล่าถึงการขนส่วยน้ำอันทารุณนี้ บางทีอาจจะรู้สึกว่าออกจะมากไปหน่อย แต่ที่จริงยังน้อยไปด้วยซ้ำ ในสมัยพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 นั้น เมื่อขยี้รัฐต่างๆ ของไทยลงราบเรียบเป็นหน้ากลองแล้ว ก็ตั้งเจ้าเขมรบ้าง นายทหารเขมรบ้าง นายทาสไทยที่ซื่อสัตย์ต่อเขมรบ้าง ขึ้นเป็นเจ้าทาสครองเมือง เพื่อที่จะประกันความซื่อสัตย์ของเจ้าทาสคนใหม่ที่ตั้งตัวขึ้นไว้ ชัยวรรมันที่ 7 มีวิธีพิศดารอยู่อันหนึ่ง นั่นคือสร้างพระพุทธรูปขึ้นหลายองค์ แต่หน้าตาของพระพุทธรูปนั้นคือหน้าตาของชัยวรรมันที่ 7 แล้วก็ส่งไปให้เจ้าทาสทั้งหลายตั้งบูชาไว้กลางเมือง พอถึงเดือนสี่จะมีการสรงน้ำทำพิธีไล่ซวยปีเก่า (ไม่ต้อนรับปีใหม่) ชัยวรรมันที่ 7 ก็เตรียมงานพิธีใหญ่ที่ปราสาทหินพระขัน (ในยุคนั้นเรียกว่านครชัยศรี) ตรงเหนือเมืองนครธม ในการสรงน้ำนี้นอกจากจะเกณฑ์น้ำสรงจากทะเลสาบชุบศรเมืองลพบุรีแล้ว ยังเกณฑ์ให้พวกเจ้าทาสเจ้าเมืองต่างๆ ยกขบวนแห่แหนพระพุทธรูปพิสดารนั้นมายังเมืองนครธม เพื่อเข้าร่วมพิธีสรงน้ำอีกด้วย หัวเมืองที่อยู่ไกลแสนไกลอย่างเมืองพิมาย, เมืองเพชรบุรี, ราชบุรี, ลพบุรี, สุพรรณภูมิ (อู่ทอง), สิงห์บุรี (เมืองสิงห์ในจังหวัดกาญจนบุรี) ฯลฯ ต้องระดมข้าทาสแห่แหนรูปของชัยวรรมันที่ 7 ไปยังนครธมทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะถ้าไม่แห่แหนไป ก็ต้องข้อหากบฏแข็งข้อ เป็นอันว่าพวกไทยในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาต้องถูกเจ้าทาสเขมรทารุณกรรมอย่างแสนสาหัส ปี หนึ่งๆ ไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่ยุ่งอยู่กับแห่พระไปแห่พระกลับก็เกือบทั้งปีเสียแล้ว

ความทารุณกดขี่ของพวกเขมรที่กระทำต่อไทยนี้ ทำให้ความขัดแย้งดำเนินไปสู่ขั้นแตกหัก พวกชุมชนไทยจึงรวมกันเข้าเพื่อสลัดแอกเขมร ในขณะนั้นเอง “นายร่วง” ลูกชายหัวสมองดีของ “นายคงเครา” หัวหน้ากองจัดส่วยน้ำ ได้มองหาวิธีผ่อนคลายความทารุณได้สำเร็จ นั่นคือคิดสานภาชนะด้วยไม้ไผ่แล้วยาด้วยชันกับน้ำมันยางขึ้นได้ ภาชนะนี้บรรจุน้ำได้ไม่รั่วซึม คือที่ชาวไทยทางภาคเหนือและอีสานยังใช้อยู่และเรียกว่า “คุ” คุที่นายร่วงประดิษฐ์ขึ้นได้เป็นเครื่องมือใหม่แห่งยุคทีเดียว เขมรเองก็ไม่เคยคิดไม่เคยรู้จัก การคิดสร้างคุขึ้นสำเร็จ ทำให้เบาแรงในการขนส่งขึ้นมากมาย

การประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ได้ใหม่ในยุคทาสนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่นับได้ว่ามหัศจรรย์อย่างยิ่งยวดของยุค เพราะมันเป็นพัฒนาการอีกก้าวหนึ่งของระบบชีวิต พวกประชาชนจึงร่ำลือกันไปตามความมหัศจรรย์ว่า นายร่วงมีวาจาสิทธิ์เอาชะลอมตักน้ำได้ ข่าวการประดิษฐ์ “คุ” ของนายร่วงเล่าลือไปถึงชุมชนไทยทุกถิ่น พวกเสรีชนที่กระจัดกระจายอยู่แต่ครั้งการพังทลายของรัฐทาสจึงพากันเข้ามารวมอยู่ภายใต้การนำของนายร่วง ทางเมืองเขมรลูกชายของชัยวรรมันที่ 7 คือ พระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 (หลัง พ.ศ. 1744-1786) ได้ข่าวการประดิษฐ์คุของนายร่วงและการรวมตัวของพวกเจ้าขุนมูลนายและเสรีชนไทยเข้าก็ตกใจใหญ่ ยกกองทัพมาปราบปราม แต่เขมรต้องทำศึกสองหน้าเสียแล้วตอนนี้ นั่นคือต้องหันไปปราบพวกจามที่ตั้งแข็งข้อขึ้นใหม่เมื่อปี 1763 และก็ปราบไม่ได้ พวกทาสในเมืองเขมรเองก็ระอานายทาสทั้งปวงเต็มทนอยู่แล้ว ความมั่นคงภายในของเขมรจึงเป็นภาระรีบด่วนของกษัตริย์เขมรมิใช่ภาระที่ปราบปรามไทย ทัพเขมรจึงถูกไทยตีโต้ถอยกระเจิงออกไป ตามพงศาวดารนั้นถึงกับกล่าวว่านายร่วงรุกเข้าไปจนถึงเมืองนครธม แต่ไปถูกทีเด็ดของพระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 เข้าอย่างใดไม่ทราบ การเลยกลับตาลิปัตร์ นายร่วงยอมรับนับถือกษัตริย์เขมร ไม่จับฆ่า เรื่องนี้จะเชื่อถือพงศาวดารนักก็ไม่ได้ เพราะขึ้นชื่อว่าพงศาวดารแล้วตอนปลายมักจะบานๆทุกทีไป แต่เรื่องทีเด็ดของพระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 นั้นมีแน่ ทีเด็ดนี้ก็คือ “นโยบายแต่งงานทางการเมือง” (Politique de mariages) นโยบายนี้เท่าที่พบหลักฐาน ชัยวรรมันที่ 7 ก็ได้เริ่มใช้แล้ว อินทรวรมันที่ 2 ลูกชายได้รับเอานโยบายนี้สืบทอดมาใช้เป็นการใหญ่ นโยบายที่ว่านี้ก็คือ ยกลูกสาวให้พวกเจ้าเมืองไทยที่กำลังทำท่าจะแข็งข้อ เจ้าเมืองไทยคนหนึ่งชื่อ “พ่อขุนผาเมือง” เป็นเจ้าอยู่ที่เมืองราด ทำท่าจะเก่งเกินไปนัก อินทรวรมันที่ 2 ก็ยกลูกสาวให้เสียคนหนึ่ง ลูกสาวคนนี้สวยไหมไม่ทราบได้ แต่ชื่อเพราะพริ้งนักคือ “พระนางสีขรมหาเทวี” นอกจากจะยกลูกสาวให้เป็นเมียแล้ว ยังผสมตั้งยศให้เป็นถึงขนาดพระยาพานทองเสียอีกด้วย กล่าวคือยกขึ้นเป็น “กัมรเดงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์” แถมยังประทานพระแสงขรรค์อาญาสิทธิชื่อ “พระขรรค์ชัยศรี” ให้อีกเล่มหนึ่ง๑๐ นัยว่าจะล่อให้พ่อขุนผาเมืองหลงใหลเคลิบเคลิ้มรักเขมร กดขี่ไทยด้วยกันเองต่อไป๑๑ และนัยว่าก็คงจะให้ขุนผาเมืองตกเป็นแกะดำของหมู่เจ้าขุนมูลนายไทยที่เพิ่งรวมกันติด แต่เขมรผิดหวัง การตื่นตัวของประชาชนคนไทยสูงมากถึงขนาดที่เขมรไม่อาจซื้อได้ พ่อขุนผาเมืองได้นำกำลังของเสรีชนไทยทั้งมวลในเมืองราดเข้าร่วมกับกำลังของประชาชนในเมืองบางยาง ภายใต้การนำของพ่อขุนบางกลางท่าว ประชาชนของทั้งสองเมืองได้ร่วมกันปลดแอกเขมรอันหนักอึ้งออกไปได้ โดยการเข้าขับไล่นายทาสเขมรที่สุโขทัย นั่นคือ “โขลญลำพัง” ที่กล่าวมานี้ข้างต้น

นายร่วงของประชาชนไทยหายต๋อมไป จะไปโดนทีเด็ดอะไรของเจ้าทาสเขมรเข้าไม่ทราบได้ แต่ตามพงศาวดารเก่าๆเล่าไว้ว่า ภายหลังนายร่วงได้เป็นเจ้าสุโขทัยเรียกว่า “พระร่วง” หรือ “พญาร่วง” นักพงศาวดารเลยโมเมจับเอาพระร่วงเข้าไปรวมเป็นคนเดียวกับพ่อขุนบางกลางท่าวเจ้าเมืองบางยาง ซึ่งจะเชื่อได้หรือไม่ยังสงสัย

เมื่อประชาชนไทยจากเมืองราด เมืองบางยาง ร่วมกับประชาชนไทยในเมืองสุโขทัยร่วมกันขับไล่นายทาสเขมรออกไปได้แล้ว พ่อขุนผาเมืองก็ยกสหายของตนขึ้นเป็นกษัตริย์ ตั้งพิธีราชาภิเษกให้แล้วซ้ำยังยกราชทินนามของตนที่ได้รับมาจากเจ้าเมืองเขมรให้แก่พ่อขุนบางกลางทาวอีกด้วย พ่อขุนบางกลางทาวจึงได้เป็นกษัตริย์มีชื่อว่า “พ่อขุนศรีอินทรบดินทราทิตย์” ซึ่งภายหลังมาตัดให้สั้นลงเพียง “ศรีอินทราทิตย์”

พร้อมกับรัฐสุโขทัย พวกประชาชนไทยอีกหลายแห่งได้ลุกฮือขึ้นสลัดอำนาจของเขมรออกไปได้สิ้น เช่นรัฐเชียงใหม่ (พญาเมงราย), รัฐพะเยา (พญางำเมือง), รัฐฉอด (ขุนสามชน), รัฐสุพรรณภูมิ (อู่ทอง), รัฐอีจาน (ในดงอีจานใต้จังหวัดนครราชสีมาและสุรินทร์)๑๒ ฯลฯ รัฐไทยเหล่านี้มีลักษณะเป็นเจ้าที่ดินใหญ่ที่มีป้อมปราการมั่นคง เช่นเดียวกับเจ้าขุนมูลนายที่มีป้อมใหญ่ๆ ของยุโรป ทุกรัฐจึงเป็นจุดศูนย์กลางสำหรับการรวมตัวของพวกเสรีชน และเจ้าขุนมูลนายย่อย ลักษณะของสังคมมีสภาพเช่นเดียวกับยุโรปตอนแรกเริ่มเกิดระบบศักดินาไม่มีผิด

หลักฐานที่ว่าจะชี้ให้เห็นว่าสภาพนี้เป็นความจริงก็คือ ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ในจารึกนั้นมีเล่าไว้ตอนหนึ่งว่า!

“คนใดขี่ช้างมาหา พาเมืองมาสู่ ช่วยเหลือเฟื้อกู้มัน (คือช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกอบกู้มัน) บ่มีช้าง บ่มีม้า บ่มีปั่ว (บ่าว) บ่มีนาง บ่มีเงือน (เงิน) บ่มีทอง ให้แก่มัน ช่วยมันตวง (ตั้ง) เป็นบ้านเป็นเมือง”

ลักษณะของการขี่ช้างมาหาพาเมืองมาสู่นี้ เป็นลักษณะของการเข้ามาสามิภักดิของพวกเจ้าขุนมูลนายที่เข้ามาขอพึ่งต่อเจ้าที่ดินใหญ่ ส่วนการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อประทานช้างม้าบ่าวไพร่ชายหญิงเงินทองให้ช่วยจัดตั้งให้เป็นบ้านเป็นเมืองขึ้น เป็นลักษณะของการช่วยเหลือที่ฝ่ายเจ้าที่ดินใหญ่ให้แก่พวกเจ้าที่ดินย่อยที่มาขอพึ่งบุญ อันเป็นลักษณะที่เคยเป็นมาแล้วในยุโรปดังกล่าวมาแต่ต้น

ถ้าจะพิจารณาศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงให้ทั่วถึงแล้ว เราก็จะมองเห็นเบาะแสอีกแห่งหนึ่งที่ทำให้น่าเชื่อว่าสมัยสุโขทัย เป็นสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างระบบทาสที่พึ่งทลายไป กับระบบศักดินาที่กำลังพัฒนาขึ้นแทนที่ เบาะแสนั่นก็คือตอนที่จารึกคุยอวดไว้ว่า “ป่าพร้าวก็หลายในเมืองนี้ ป่าลางก็หลายในเมืองนี้ (ลาง=ขนุน) หมากม่วงก็หลายในเมืองนี้ หมากขามก็หลายในเมืองนี้ ใครสร้างได้ไว้แก่มัน” ที่ต้องเอามาคุยอวดไว้ว่า ‘ใครสร้างได้ไว้แก่มัน’ นี้ ทำให้มองเห็นได้ว่า ก่อนสมัยนี้รูปการเป็นคนละแบบกล่าวคือ ‘ใครสร้างไว้ไม่ได้แก่คนนั้น’ ที่ว่าไม่ได้แก่คนนั้น หมายถึงไปได้แก่คนอื่น.........ทาสสร้างได้ไว้แก่เจ้าทาส! นั่นคือ ก่อนยุคนั้นขึ้นไปพวกทาสยังมีสมบัติส่วนตัวไม่ได้ ทำอะไรได้เท่าไหร่ ต้องตกเป็นของเจ้าทาสหมด พวกทาสเริ่มมามีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนตัวอันเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของตนก็เมื่อปลายยุคทาสต่อกับยุคศักดินา ซึ่งทาสกำลังกลายเป็นเลก การเปลี่ยนแปลงเรื่องกรรมสิทธิ์เช่นกล่าวนี้ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬารของสังคม จารึกจึงอดไม่ได้ที่จะเก็บมาคุยอวดไว้ให้คนทั้งหลายทั้งปวงฟัง หากเป็นเรื่องธรรมดาๆ อยู่นานนมแล้ว จะต้องเก็บมาคุยอวดไว้ทำไม?

เจ้าที่ดินใหญ่ หรือ “พ่อขุน” ของสุโขทัยนั้น สังเกตได้ว่าเป็นเจ้าที่ดินหน้าใหม่ ยังไม่มีที่ดินใหญ่โตมากมายเท่าใดนัก๑๓ พวกเจ้าขุนมูลนายย่อยๆ จึงยังคงมีอำนาจสมบูรณ์และมักขัดขืนช่วงชิงที่ดินและผลประโยชน์กับสุโขทัยเสมอ จะเห็นได้ว่าพอตั้งรัฐสุโขทัยขึ้นสำเร็จพักเดียว รัฐฉอดของขุนสามชนก็ยกเข้ามารุกรานสุโขทัยทางเมืองตาก ขุนจัง (รัฐใดไม่ปรากฏ)๑๔ กับท้าวอีจานก็รุกรานเมืองราด แต่เจ้าที่ดินใหญ่ของสุโขทัยก็พยายามต่อสู้ และรวบอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจคือที่ดิน และอำนาจทางการเมืองเข้าไว้ในมือเสมอ เจ้าที่ดินใหญ่สุโขทัยไม่รั้งรอให้ใครเข้ามาสามิภักดิ์แต่ด้านเดียว หากได้ออกทำสงครามแย่งชิงที่ดินเอาด้วยกำลังทีเดียว จะเห็นได้จากที่พ่อขุนรามคำแหงเล่าอวดไว้ในศิลาจารึกว่า “กูไปท่า (ตี) บ้านท่าเมือง ได้ช้างได้งวงได้ปั่ว (บ่าว) ได้นาง ได้เงิน ได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู” แต่ถึงกระนั้นสุโขทัยก็ไม่อาจขยายที่ดินออกไปได้กว้างขวางนัก ทั้งนี้ก็เพราะรัฐไทยต่างๆ ส่วนมากมีความเข้มแข็งพอๆ กับสุโขทัย เจ้าที่ดินใหญ่ของแต่ละรัฐจึงคบกับสุโขทัยในฐานะเป็นเพื่อนน้ำมิตร เช่นรัฐเชียงใหม่ ของพญาเม็งราย รัฐพะเยาของพญางำเมือง รัฐหริภุญชัย (ลำพูน) ของพญาญี่บา อาณาเขตผืนดินของสุโขทัยจึงสะดุดกึกลงที่เขตแดนของรัฐเหล่านี้

ถ้าหากจะพิจารณาดูการวางระบบเมืองแล้ว ก็จะเห็นความคับแคบของที่ดินในกรรมสิทธิ์ของเจ้าที่ดินสุโขทัยได้ชัด กล่าวคือเมืองด่านสำคัญสี่ทิศ (เมืองลูกหลวง) ของสุโขทัย อยู่ใกล้ๆ ตัวกรุงสุโขทัยทั้งสิ้น สวรรคโลก (สัชชนาลัย) อยู่ด้านเหนือ, พิษณุโลก (สองแคว) อยู่ด้านตะวันออก, พิจิตร (สระหลวง) อยู่ด้านใต้ และกำแพงเพชร (ชากังราว) อยู่ด้านตะวันตก ทั้งสี่เมืองมีระยะทางห่างจากสุโขทัยเพียงทางเดินสองวันทั้งสิ้น เมืองที่อยู่ภายในวงนี้เท่านั้นที่อยู่ภายใต้การปกครองของสุโขทัยโดยตรง นอกจากนั้นจะเป็นหงสาวดีก็ดี หลวงพระบางก็ดี สุพรรณภูมิ (อู่ทอง) ก็ดี เพชรบุรีก็ดี นครศรีธรรมราชก็ดี ล้วนเป็นเพียงเมืองประเทศราช และพวกสามนตราช (Vassal) ที่ยังมีอำนาจมากอยู่ทั้งนั้น สุโขทัยยังรวบอำนาจเหนือที่ดินของรัฐและเมืองเหล่านี้ไม่ได้เด็ดขาดแท้จริง ถ้าหากผลประโยชน์เหนือที่ดินเกิดขัดกันขึ้นเมื่อใด พวกรัฐเล็กรัฐและโตเหล่านี้ก็เป็นแข็งข้อเอาเสมอ และตามที่ปรากฏรัฐที่แข็งข้อได้สำเร็จอย่างลอยชายก็คือ รัฐสุพรรณภูมิของพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งต่อมาได้ย้ายมาตั้งมั่นอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา

ระบบผลิตศักดินาของสังคมไทยในสมัยแรกเริ่ม คือก่อนต้นยุคสุโขทัยขึ้นไปเล็กน้อย หรือตอนแรกตั้งอาณาจักรสุโขทัยนั้น จะมีลักษณะการแบ่งปันที่ดินกันอย่างใดไม่ทราบชัด เพราะไม่มีหลักฐาน เรารู้ได้แต่เพียงว่า ในสมัยสุโขทัยนั้น ได้มีการแบ่งปันที่นากันแล้วอย่างมีระเบียบเรียบร้อยตามศักดิ์ของแต่ละคน คือพวกเจ้าที่ดินเป็นลูกหลานพ่อขุนก็ได้มาก ที่เป็นเพียงลูกขุนข้าราชการก็ได้น้อย แต่จะมีอัตรากำหนดอย่างไรหาทราบไม่ ในกฎหมายลักษณะโจรของกรุงสุโขทัย ซึ่งตราขึ้นในราวปี 1916 นั้น ได้มีที่กล่าวถึงการปรับไหมว่าปรับกันตาม “ศักดิ์”๑๕ นั่นก็คือปรับกันตามศักดินาของแต่ละคนอย่างเดียวกับการปรับไหมของสมัยอยุธยาที่มีวิธีคำนวณปรากฏอยู่ในกฎหมาย “กรมศักดิ์” (หรือพระอัยการพรมศักดิ์)

แต่อย่างไรก็ดี แม้จะมีการแบ่งปันที่ดินกันอย่างมีระเบียบ ระบบศักดินาของสุโขทัยก็ยังคงอยู่ในระยะแห่งการพัฒนาขั้นต้น ที่กล้ากล่าวดังนี้ก็เพราะ ในตอนต้นยุคสุโขทัยทีเดียวนั้น พวกราชะยังคงมีลักษณะเป็น “พ่อขุน” อยู่ ความสัมพันธ์ในทางการเมืองมีดังนี้คือ ข้าราชการเป็น “ลูกขุน” เจ้าเมืองใหญ่น้อยทั้งปวงเป็น ‘ขุน’ เช่น ขุนสามชน๑๖ ราชะใหญ่คือ กษัตริย์ เป็นพ่อขุน แม้ว่าพวกพ่อขุนจะพยายามตั้งตนเป็นกษัตริย์ใหญ่ ชาวบ้านชาวเมืองก็ยังเรียกว่า “พ่อขุน” ด้วยความเคยชินอยู่ ยังมิได้เปลี่ยนธรรมเนียมเรียกโดยฉับพลัน แต่ถึงกระนั้นการพัฒนาของระบบศักดินาสุโขทัยก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว เราจะเห็นว่ากษัตริย์สมัยสุโขทัยมีที่เป็นพ่อขุนอยู่เพียง 2-3 องค์เท่านั้น เช่น พ่อขุนผาเมือง พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และพ่อขุนรามคำแหง พอพ้นจากนี้แล้วกษัตริย์ก็กลายมาเป็น “พญา” อย่าง พญาเลอไทย จากพญาก็ขยับตรงเข้าสู่ขั้น “เจ้าพญา” แล้วถัดจากนั้นก็ขอยืมคำเขมรมาเดาะเข้าให้เป็น “สมเด็จเจ้าพญา”๑๗ ท้ายที่สุดก็กลายเป็น “พระเจ้าแผ่นดิน” ดังที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายลักษณะโจรที่ได้กล่าวถึง พัฒนาการของฐานะกษัตริย์เป็นพยานที่แสดงให้เห็นว่า การพยายามรวบอำนาจเหนือที่ดินของพวกกษัตริย์สุโขทัย ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่รัชกาลพ่อขุนศรีอินทราทิตย์นั้น ได้บรรลุผลสำเร็จอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียงร้อยปีเศษ กษัตริย์สุโขทัยดูเหมือนจะรวบอำนาจในที่ดิน ยกตนขึ้นเป็น “พระเจ้าแผ่นดิน” ตามคติของศักดินาได้สำเร็จมั่นคงรวดเร็วพอๆ กันกับกษัตริย์ทางฝ่ายอยุธยา ต่อหลังจากนั้น ศักดินาสุโขทัยจึงได้ถูกศักดินาอยุธยาช่วงชิงผืนดิน จนในที่สุดผืนแผ่นดินทั้งมวลของสุโขทัย ก็ตกเป็นของ “พระเจ้าแผ่นดิน” อยุธยาโดยสิ้นเชิง และสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. 1981 เป็นอันว่า ระบบศักดินาของอาณาจักรสุโขทัยได้พัฒนามาอย่างเอกเทศเพียงชั่วระยะ 200 ปีเท่านั้นเอง

คราวนี้ก็มาถึงระบบศักดินาของไทยทางใต้ คือทางอยุธยา

กรุงศรีอยุธยาเพิ่งจะสร้างขึ้นเป็นเมืองหลวงเมื่อ พ.ศ. 1893 ทั้งนี้โดยประชาชนไทยภายใต้การนำของพระเจ้าอู่ทองได้พากันอพยพหนีโรคระบาดอันเกิดจากความกันดารน้ำ (เพราะกระแสน้ำเปลี่ยนทางเดิน) ลงมาช่วยกันสร้างบ้านสร้างเมืองหักร้างถางพง เป็นไร่เป็นนาขึ้น

ก่อนนั้นขึ้นไป ประชาชนไทยได้รวมกันอยู่เป็นปึกแผ่นอย่างเรียบร้อย และมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอู่ทอง (ในสุพรรณบุรี) ชุมชนของไทยในแคว้นอู่ทอง ก่อนที่จะอพยพย้ายครัวมายังอยุธยานั้นได้เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรสุโขทัยมาแล้วระยะหนึ่งในฐานะเป็นเมืองประเทศราช ดังที่ปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงว่า ‘สุพรรณภูมิ’

ไม่ต้องสงสัย ระบบผลิตของประชาชนไทยในแคว้นสุพรรณภูมิหรืออู่ทอง ก็คือระบบผลิตศักดินาที่ได้ก่อรูปขึ้นแล้วอย่างเรียบร้อย ฐานะของกษัตริย์ในแคว้นนี้ เป็นฐานะที่สูงส่งกว่าทางสุโขทัย ทั้งนี้เพราะไปได้แบบอย่างที่ถือว่ากษัตริย์คือ “เทวะ” มาจากเขมร พระเจ้าอู่ทองจึงได้ตั้งชื่อตัวเองเสียเต็มยศอย่างกษัตริย์เขมรว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดี ศรีวิสุทธิวงศ์องคNบุริโสดม บรมจักรพรรดิราชาธิราชตรีภูวนาธิเบศ บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว๑๘ อันแปลว่า พระเจ้ารามาธิบดี ผู้มีชาติกำเนิดในโคตรตระกูลอันสูงส่ง เป็นบุรุษผู้สูงสุด เป็นพระเจ้าจักรพรรดิคือผู้มีเมืองขึ้นโดยรอบ เป็นพระราชาแห่งราชาทั้งปวง และเป็นพระพุทธเจ้านั่งอยู่เหนือหัวของทวยราษฎร์ การปกครองของแคว้นสุพรรณภูมิหรืออู่ทอง เป็นไปโดยมีระเบียบแบบแผนสมบูรณ์ เท่าที่มีเอกสารอยู่เป็นพยานก็คือ ‘กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ’ อันว่าด้วยการพิพาทเกี่ยวกับที่ดิน กฎหมายนี้ตราขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1886 ก่อนสร้างอยุธยา 8 ปี อีกฉบับหนึ่งคือ “กฎหมายลักษณะทาส” ซึ่งตราขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1890 ก่อนสร้างอยุธยา 4 ปี๑๙

ฐานะของกษัตริย์ที่มีต่อที่ดินของแคว้นสุพรรณภูมินี้ ไม่ปรากฏว่าเป็นไปในรูปใด แต่ภายหลังจากที่ได้อพยพย้ายครัวกันลงมาอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยาแล้ว ฐานะของกษัตริย์ที่มีเหนือที่ดินก็ปรากฏให้เราศึกษาได้ชัด กล่าวคือ ‘เป็นเจ้าของผืนแผ่นดินทั้งมวลในอาณาจักร’ ทั้งนี้เห็นได้จากคำปรารภของกฎหมายเบ็ดเสร็จส่วนที่ 2 อันเป็นกฎหมายที่ดิน ซึ่งพระเจ้าอู่ทองได้ตราขึ้น เมื่อ พ.ศ. 1903 หลังจากการสร้างกรุงศรีอยุธยาแล้ว 10 ปี ตอนหนึ่งของคำปรารภนั้นมีว่า:-

“จึ่งพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสีหนาท ดำรัสตรัสแก่เจ้าขุนหลวงสพฤๅแลมุขมนตรีทั้งหลายว่า ที่ในแว่นแคว้นกรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยามหาดิลกนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ เป็นที่แห่งพระเจ้าอยู่หัว หากให้ราษฎรทั้งหลายผู้เป็นข้าแผ่นดินอยู่ จะได้เป็นที่ราษฎรหามิได้

เป็นอันว่าฐานะของกษัตริย์ตอนต้นอยุธยาได้ถูกประกาศอย่างกึกก้อง เต็มปาก โดยไม่ต้องเกรงกลัวใครแล้วว่า กษัตริย์นี้เป็นเจ้าของที่ดิน และกษัตริย์ได้ทรงพระกรุณาประทานที่ให้ราษฎรทำมาหากิน แน่นอนเมื่อที่ดินทั้งมวลเป็นของกษัตริย์ ประชาชนก็ย่อมไม่มีสิทธิในที่ดิน ที่ว่าเช่นนี้ก็เพราะมีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่าประชาชนจะขายจะซื้อที่ดินกันได้ ก็เพียงแต่ในบริเวณตัวเมืองหลวงเท่านั้น นอกเมืองหลวงออกไปแล้วที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของกษัตริย์โดยเด็ดขาด จะซื้อขายกันไม่ได้ หลักฐานที่ว่านี้ก็คือข้อความในมาตรา 1 ของกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จส่วนที่ 2 (เพิ่มเติม) ที่กล่าวถึงนั้นเอง มาตรานั้นมีความว่า

ถ้าที่นอกเมือง อันเป็นแว่นแคว้นกรุงศรีอยุธยา ใช่ที่ราษฎร อย่าให้ซื้อขายแก่กัน...

นั่นก็คือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งประชาชนจะมีได้นั้นมีอยู่เพียงในตัวเมืองหลวงเท่านั้น ประชาชนผู้ที่อยู่นอกเมืองหลวงออกไป จนถึงปลายอาณาเขต แห่งอาณาจักรศรีอยุธยาไม่มีโอกาสได้เป็นเจ้าของที่ดินเลยแม้แต่ตารางนิ้วเดียว ลักษณะนี้เป็นลักษณะการผูกขาดที่ดินของเจ้าที่ดินใหญ่คือกษัตริย์ ประชาชนมีหน้าที่อาศัยผืนแผ่นดินท่านอยู่ มีหน้าที่เสียภาษีอากรอันหนักหน่วง เป็นการตอบแทนการอาศัยที่ดินของท่าน เรื่องของมันก็ลงเป็นรอยเดียวกับศักดินาใหญ่ของประเทศลาวในสมัยโบราณ ซึ่งบาทหลวงบูรเลต์กล่าวถึงไว้ว่าในเมืองหัวพันทั้งหกนั้น “ชาวบ้านไม่รู้จักกรรมสิทธิ์ที่ดิน อาณาเขตเป็นของเจ้าชีวิต หรือพระเจ้าแผ่นดินหลวงพระบาง ประชาชนเป็นแต่ผู้เก็บกินหรือผู้ทำ ก่อนที่ฝรั่งเศสเข้าปกครองประเทศนี้ ภาษีอากรที่ดินซึ่งชาวบ้านชำระทุกปี จึงดูเหมือนว่าเสียไปเพื่อเป็นค่าอาศัยที่เจ้าของชีวิตอยู่”๒๐

เมื่อที่ดินทั้งหมดตกเป็นของกษัตริย์แต่ผู้เดียวเช่นนี้ ประชาชนส่วนข้างมากจะตกอยู่ในฐานะเช่นไร?

ฐานะของประชาชนในระบบศักดินายุคต้นของอยุธยาก็คือ เป็นผู้ทำงานบนผืนดินส่งส่วยสาอากรแก่เจ้าที่ดิน การที่จะทำงานบนผืนที่ดินนั้นโดยที่ตนมิได้มีกรรมสิทธิ์เป็นเหตุให้การทำงานอืดอาดไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะไม่มีแก่ใจ กษัตริย์ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน และผู้เสวยผลประโยชน์จึงต้องออกกฎหมายบังคับไว้ว่า ที่ดินในรัฐทุกแห่ง

อย่าละไว้ให้เป็นทำเลเปล่า แลให้นายบ้านนายอำเภอร้อยแขวงและนายอากรจัดคนเข้าไปอยู่ในที่นั้น” และเพื่อให้เป็นกำลังใจแก่ประชาชนที่จะทำการผลิต กฎหมายฉบับเดียวกันจึงบ่งไว้อีกว่า “อนึ่ง ที่นอกเมืองชำรุดอยู่นานก็ดี แลมันผู้หนึ่งล้อมเอาไว้เป็นไร่เป็นสวนมัน มันได้ปลูกต้นไม้สรรพอัญมณี (=ของกินได้) ในที่นั้นไว้ ให้ลดอากรไว้แก่มันปีหนึ่ง พ้นกว่านั้นเป็นอากรของหลวง แล” นั่นก็คือลดภาษีอากรให้เป็นกำลังใจแก่ผู้ก่นสร้างที่ดิน

ยิ่งกว่านั้น กฎหมายยังให้กำลังใจแก่ผู้ทำงานไว้อีกข้อหนึ่งด้วยว่า “หัวป่าแลที่มีเจ้าของสืบสร้าง แลผู้นั้นตาย ได้แก่ลูกหลาน” นี้ เป็นลักษณะเดียวกันกับที่มีคุยอวดไว้ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงว่าป่าหมากป่าพลูทั้งมวล “ใครสร้างได้ไว้แก่มัน” และพอมันตายลง พ่อมันก็ว้แก่ลูกมันสิ้น

แต่อย่าเพิ่งดีใจ ที่กฎหมายของศักดินาอยุธยาระบุไว้ว่า ‘ผู้นั้นตายได้แก่ลูกหลาน’ นั้น มิได้หมายถึงว่าลูกหลานได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน หากได้กรรมสิทธิ์เพียงผลประโยชน์บนผืนดินเท่านั้นเอง ถ้าหากทอดทิ้งที่ดินผืนนั้นไปเสียเป็นระยะเก้าปีสิบปี กฎหมายระบุให้แขวงจัดคนที่ไม่มีที่อยู่เข้าทำกินต่อไปเป็นเจ้าของใหม่ ถ้าหากต้นไม้และผลประโยชน์อื่นมีติดที่ดินอยู่ ก็ให้ผู้มาอยู่ใหม่คิดเป็นราคาชดใช้ให้พอสมควร “ส่วนที่นั้นมิให้ซื้อขายแก่กันเลย” (เบ็ดเสร็จเพิ่มเติม) นี้ก็คือประชาชนมิได้มีกรรมสิทธิ์เด็ดขาดในที่ดินที่ตนทำมาหากิน ที่ดินยังคงเป็นของกษัตริย์ ประชาชนมีสิทธิ์ในฐานะเป็นผู้ครอบครองเพื่อทำการผลิตและแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่กษัตริย์เท่านั้น กษัตริย์ยังคงมีสิทธิสมบูรณ์เหนือที่ดิน จะริบจะโอนอย่างไรก็ได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้จะเห็นได้จากกฎหมายเบ็ดเสร็จ (เพิ่มเติม มาตรา 12) กฎหมายมาตรานี้ระบุว่า กษัตริย์มีสิทธิ์สมบูรณ์ในการจะยกที่ดินให้แก่ใครๆ ก็ได้ แม้ที่ดินผืนนั้นจะมีผู้เข้าครอบครองทำมาหากินอยู่ก่อนแล้ว ใครจะมาโต้เถียงคัดค้านสิทธิของผู้ที่ได้รับพระราชทานไม่ได้ ถ้าคัดค้านโต้เถียง ก็เป็นการขัดขืนพระราชโองการประชาชนใช้สิทธิในการครอบครองที่ดินอ้างยันต่อกันเองได้ แต่จะอ้างยันต่อกษัตริย์ไม่ได้

สรุปรวมความได้ว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์เกี่ยวเนื่องแก่ที่ดินในตอนต้นสมัยอยุธยา มีดังนี้:-

1. กษัตริย์เป็นเจ้าที่ดินใหญ่ มีกรรมสิทธิ์เด็ดขาดเหนือผืนดินทั้งอาณาจักรแต่ผู้เดียว

2. ประชาชนส่วนข้างมากไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ต้องอาศัยที่ดินของกษัตริย์ทำมาหากินโดยเสียภาษีอากร ซึ่งเป็นการขูดรีดโดยตรงระหว่างกษัตริย์กับเสรีชนทั่วไป

3. สิทธิเอกชนเหนือที่ดินมีได้เพียงภายในเมืองหลวงซึ่งภายในเขตนี้ซื้อขายที่ดินกันได้, เช่าได้, จำนำได้, ขายฝากได้ (เบ็ดเสร็จ-เพิ่มเติม) การขูดรีดภายในเมืองหลวงจึงเป็นการขูดรีดที่ชนชั้นเจ้าที่ดินทั้งมวลกระทำต่อไพร่ผู้อาศัยที่ และต่อเสรีชนผู้เช่าที่

4. ระบบการแจกจ่ายที่ดินให้แก่ผู้มีความชอบในราชการ ปรากฏมีขึ้นชัดเจนทั้งที่ดิน ช้าง ม้า วัว ควาย และผู้คนภายในผืนดิน ตกอยู่ในความครอบครองของผู้ได้รับพระราชทานด้วย (เบ็ดเสร็จ-เพิ่มเติม) การขูดรีดระหว่างชนชั้นเจ้าที่ดินโดยเฉพาะเจ้าขุนมูลนายกับเลกหรือไพร่ปรากฏมีขึ้นทั่วไป

5. การครอบครองที่ดินในทั้งภายนอกและภายในเขตเมืองหลวง เป็นไปได้โดยการหักร้างถางพงก่นสร้าง ทั้งนี้ทั้งโดยสมัครใจ และโดยการเร่งรัดกะเกณฑ์ของพวกนายบ้าน ทุกคนมีสิทธิครอบครองแต่ในระยะที่ยังทำผลประโยชน์เท่านั้น กรรมสิทธิ์เหนือที่ดิน จึงเป็นกรรมสิทธิ์ที่เบาบางเต็มที

การที่พระเจ้าอู่ทองประกาศกึกก้องว่าที่ดินทั้งมวลเป็นของตนแต่ผู้เดียวนั้น โดยการปฏิบัติแล้วคำประกาศนี้มีผลเฉพาะในหมู่ไพร่เท่านั้น แต่ในหมู่เจ้าขุนมูลนายแล้ว คำประกาศนี้ไม่มีน้ำหนักมากเท่าใดนัก พระเจ้าอู่ทองรวบอำนาจของที่ดินในบริเวณรัฐอยุธยาของตนไว้ได้เด็ดขาดจริง แต่รัฐเล็กรัฐน้อยของพวกเจ้าขุนมูลนายต่างๆ ที่ต่างก็เป็นเจ้าที่ดินใหญ่นั้น พระเจ้าอู่ทองหามีอำนาจเหนือเท่าใดนักไม่ ตัวอย่างก็คือรัฐสุพรรณภูมิของขุนหลวงพงัว รัฐนี้แข็งแรงใหญ่โต หลังจากพระเจ้าอู่ทองอพยพลงมาแล้ว ขุนหลวงพงัวก็ตั้งตนเป็นเจ้าครอบครองที่ดินแทน พอพระเจ้าอู่ทองตายลง ขุนหลวงพงัวก็ปลดแอก และช่วงชิงราชบัลลังก์อยุธยาไปเสียเหนาะๆ นอกจากรัฐสุพรรณภูมิแล้ว อยุธยายังต้องเผชิญกับการขัดแข็งของเจ้าขุนมูลนายอีกหลายรัฐ ต้องปราบปรามอยู่หลายปี และท้ายที่สุดก็พยายามรวบอำนาจในที่ดินของสุโขทัยพากเพียรอยู่นานเต็มที รบกันหลายครั้งในที่สุดก็รบชนะ แต่อยุธยาก็ยังไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ที่ดินของอาณาจักรสุโขทัยได้ สุโขทัยยังเข้มแข็งพอที่จะรักษาอำนาจเหนือที่ดินของตนไว้ได้ต่อมาในฐานะเจ้าประเทศราช เมื่อเป็นเช่นนี้เจ้าที่ดินใหญ่อยุธยา จึงต้องใช้นโยบายสำคัญ ที่เรียกว่า “แบ่งแยกแล้วปกครอง” (Divided and Rule)๒๑ วิธีการก็คือยุยงให้พญาบาลเมือง (พี่) พญารามคำแหง (น้อง) ลูกเจ้ากรุงสุโขทัยทะเลาะกันแย่งผลประโยชน์กัน ทั้งคู่รบกันเป็นสงครามกลางเมือง ผู้คนล้มตายกันมากมาย จุดประสงค์ก็คือแย่งราชบัลลังก์กัน พอรบกันแล้วเจ้าที่ดินใหญ่อยุธยาก็เข้าแทรกแซง จัดการแบ่งอาณาเขตให้ทั้งสองฝ่ายปกครองเป็นสุโขทัยตะวันออก สุโขทัยตะวันตก ทางตะวันออกให้พญาบาลเมืองครอบครองตั้งเป็นเมืองหลวง ณ พิษณุโลก ส่วนพญารามคำแหงให้ครอบครองสุโขทัยตะวันตก ตั้งเมืองหลวง ณ กำแพงเพชร๒๒ นี่เป็นขั้นแรก พอถึง พ.ศ. 1981 พญาบาลเมืองที่ครองพิษณุโลกตายลง เจ้าที่ดินใหญ่แห่งอยุธยาก็ประกาศล้มเลิกอาณาจักรสุโขทัย ริบเอาที่ดินทั้งมวลในกรรมสิทธิ์ของพญาบาลเมืองและพญารามคำแหงมาเป็นของตนเสียดื้อๆ สุโขทัยโดนนโยบายแบ่งแยกและปกครองเข้ารูปนี้ก็กลับตัวไม่ทัน จึงต้องยอมลงหัวให้อยุธยา แต่พวกเจ้าขุนมูลนายเดิมทางสุโขทัยทั้งปวงก็พยายามหาทางสลัดแอกของเจ้าที่ดินใหญ่อยุธยาอยู่เสมอ บางพวกจึงหันไปพึ่งกำลังของท้าวลก (พระเจ้าติโลกราช) ศักดินาเชียงใหม่ให้ช่วยปลดแอกอยุธยาจากบ่าตน แต่กำลังของอยุธยาเข้มแข็งมากเสียแล้ว ความพยายามของพวกเจ้าขุนมูลนายเหล่านั้นจึงเป็นอันล้มเหลว ที่ดินทั้งมวลของรัฐสุโขทัยแต่เดิมตกเป็นของเจ้าที่ดินใหญ่อยุธยาโดยตรง

เป็นอันว่าระบบศักดินาของไทยเริ่มมีความมั่นคงแท้จริงภายหลังจากที่ได้รวบที่ดินของสุโขทัยเข้าไว้ได้นี้เอง

ความเคลื่อนไหวสุดท้ายเจ้าที่ดินใหญ่แห่งอยุธยากระทำ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบศักดินา ก็คือ การออกกฎหมายศักดินาที่เรียกว่า ‘พระอัยการ ตำแหน่งนาทหารและพลเรือน’ เมื่อปี 1998 กฎหมายฉบับนี้แหละที่ได้เป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษาสถาบันของชนชั้นศักดินาไทยให้ยืนยาวอยู่ได้ จนกระทั่งถูกโค่นอำนาจทางการเมืองไปโดยการปฏิวัติ ของชนชั้นกลาง พ.ศ. 2475

ข้อความทั้งมวลที่ได้กล่าวมาในตอนที่ว่าด้วย ‘กำเนิดของระบบศักดินาในประเทศไทย’ นี้ เป็นเพียงการสันนิษฐานด้วยอัตวิสัย โดยยึดหลักวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์เป็นแนวทาง ผู้ที่ศึกษาและอ้างอิงขอได้โปรดคำนึงถึงความจริงข้อนี้ไว้ในใจอย่างเคร่งครัด

  1. ๑. Collection de textes et documents sur l'Indochine III, Inscriptions du Cambodge, Vol. II par G. Cœdès, Hanoi 1942, p.176

  2. ๒. ในจารึกภาษาไทยหลักที่สองของประชุมจารึกสยามภาค 1 โขลญลำพงหรือลำพังนี้เป็นตำแหน่งราชการ ภายหลังมาตกอยู่ในเมืองไทยเป็นกรมพระลำพัง (เขมรเรียกพระลำพัง แล้วไทยสุโขทัยเอามาเขียนลำพง)

  3. ๓. ดูรายละเอียดใน Pour mieux comprendre Angkor, par G. Cœdès, Paris 1947

  4. ๔. ดู “พิมายในด้านจารึก” ของ จิตร ภูมิศักดิ์, วงวรรณคดี ฉบับกุมภาพันธ์ 2496

  5. ๕. ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่กรุงเทพฯ มีพระพุทธรูปที่ว่านี้อยู่รูปหนึ่ง ทำด้วยศิลาขนาดโตกว่าตัวจริง หน้าตาเป็นเขมรที่ไว้เปียตามคติพราหมณ์ รูปนี้ได้มาจากพิมาย ชาวบ้านเรียกกันว่าท้าวพรหมทัต นับว่าชาวบ้านไทยก็ไม่โง่พอที่จะให้ชัยวรรมันหลอกว่าเป็นพระพุทธรูป

  6. ๖. ดูรายละเอียดใน La stèle du Prah Khan d' Angkor, G. Cœdès, Bulletin de l'École française d'Extrême-Orient, Tome XLI, 1941 P. 255-301

  7. ๗. พระอินทรวรรมันที่ 2 นี้ คือที่ไทยเราเรียกว่า พระเจ้าประทุมสุริยวงศ์ในนิทาน

  8. ๘. ปรากฏในศิลาจารึกพระขัน La stèle du Prah Khan d' Angkor, BEFEO, XLI 1941, p.256

  9. ๙. เมืองราดนี้ บ้างก็ว่าอยู่ที่เพชรบูรณ์ บ้างก็ว่าอยู่ลพบุรี บ้างก็ว่าอยู่ที่เมืองโคราชร้างในจังหวัดนครราชสีมา

  10. ๑๐. ดูศิลาจารึกไทยวัดศรีชุม ในประชุมจารึกสยามภาค 1

  11. ๑๑. นโยบายนี้เขมรยังได้ใช้ต่อมาอีกนานในรอบร้อยปีถัดมา ท้าวฟ้างุ้มกษัตริย์หลวงพระบางก็ได้รับแจกลูกสาวมาคนหนึ่ง ชื่อว่า “ยอดแก้ว”

  12. ๑๒. รัฐอีจานนี้ปรากฏในศิลาจารึกวัดศรีชุมในประชุมจารึกสยามภาค 1 ภายหลังได้ทะเลาะกับรัฐเมืองราดถึงกับรบกันยกใหญ่

  13. ๑๓. นักพงศาวดารมักเดาเอาว่าอาณาเขตของสุโขทัยเลยตลอดไปถึงยะโฮร์! อันนี้เกินจริง ที่จริงมีเพียงรัฐของพระยานครศรีธรรมราชเท่านั้นที่อยู่ภายใต้อำนาจของสุโขทัย ตามศิลาจารึกที่บ่งไว้ว่าอาณาเขตทางใต้เลยนครศรีธรรมราชออกไปถึง ‘ทะเลสมุทร’ นั้น หมายถึงทะเลสาบน้ำเค็มสงขลา

  14. ๑๔. ดูศิลาจารึกวัดศรีชุม ในประชุมจารึกสยามภาค 1

  15. ๑๕. จารึกกฎหมายลักษณะโจรสมัยสุโขทัย, ฉ่ำ ทองคำวรรณ อ่าน, วารสารศิลปากร ฉบับ 3 พ.ศ. 2498, หน้า 102

  16. ๑๖. ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด เป็นชมรมไทยขนาดใหญ่อีกชมรมหนึ่งทางอำเภอแม่สอด ภายหลังก็ถูกรวบเข้ากับอาณาจักรสุโขทัย

  17. ๑๗. พัฒนาการของฐานะกษัตริย์จากพ่อขุนไปสู่พญา เจ้าพญา และสมเด็จเจ้าพญาจนถึงพระเจ้าแผ่นดินนี้ ศึกษาได้จากศิลาจารึกสมัยสุโขทัย ทั้งที่พบเก่า (ในประชุมจารึกสยาม ภาค 1) และที่พบใหม่ (พิมพ์ทยอยในวารสารศิลปากร)

  18. ๑๘. ในพระไอยการเบ็ดเสร็จ ซึ่งตราขึ้นก่อนสร้างอยุธยา 8 ปี ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 ฉบับพิมพ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หน้า 200 เล่ม 2

  19. ๑๙. ดู “บันทึกเกณฑ์สอบศักราช” โดยธนิต อยู่โพธิ์, วารสารศิลปากร ปีที่ 5 เล่ม 3 ตุลาคม 2494 หน้า 59 กฎหมายทั้งสองนี้สมเด็จกรมพระยาดำรงเคยตู่เอาไปไว้สมัยอยุธยาตอนปลาย

  20. ๒๐. A Bourlet. Socialisme dans les Hua Phan คัดจาก “ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย” กฎหมายที่ดินของ ร. แลงกาต์ หน้า 8

  21. ๒๑. นโยบายนี้มนุษย์รู้จักใช้มาแต่สมัยระบบทาส หาใช่นโยบายของจักรพรรดินิยมโดยเฉพาะดังที่บางคนเข้าใจกันไม่

  22. ๒๒. พญาบาลเมืองกับพญารามคำแหงสองคนนี้ เป็นคนละคนกับ พ่อขุนบาลเมืองกับพ่อขุนรามคำแหงที่รู้จักกันทั่วไป สองคนนี้เป็นเหลนพ่อขุนรามคำแหงที่มีชื่อว่าบาลเมืองกับรามคำแหงเท่านั้น นัยว่าตั้งชื่อตามธรรมเนียมลูกหลานครั้งปู่ ทั้งสองคนนี้รบกันเมื่อปีพ.ศ. 1962 เจ้าที่ดินใหญ่อยุธยาที่เข้าแทรกแซงครั้งนี้คือสมเด็จพระนครอินทราชาธิราช

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ