วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

Cinnamon Hall, 15 Kelawei Road,

Penang S.S.

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน นั้นแล้ว

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

๑) อธิบายเรื่องประดิทิน ที่ทรงพระราชดำริเห็นกระบวนโหรเชื่อมทางจันทรคติให้เกี่ยวกันนั้น หม่อมฉันเห็นว่าถูกต้องทีเดียว ด้วยหลักของประดิทิน ก็มีแต่พระจันทร์หรืออาทิตย์เป็นที่สังเกต ที่เอาสิ่งอื่นเช่นฤดูและดาวฤกษ์มาเข้าในทางคำนวณ ก็เพื่อจะให้ละเอียดขึ้น แต่คิดดูวิชาโหราศาสตร์น่าพิศวงด้วยมูลมาแต่ความสังเกตและจดจำไว้เท่านั้น นานเข้าจึงสามารถจะพยากรณ์สุริยและจันทร์อุปราคาได้แน่นอน เหลือวิสัยที่บุคคลภายนอกจะเห็นได้ตามจริง จึงเลยเชื่อว่าโหรอาจจะพยากรณ์อะไรๆ ได้ทุกอย่าง เพราะเหตุฉะนั้นจึงเกิดวิชาพยากรณ์ดีร้ายอันจะมีแก่โลกหรือบุคคล ตำราพยากรณ์ก็เอาวิธีสังเกตจดจำประดิทินนั้นเองมาใช้เป็นหลัก เช่นจดจำวันเวลาที่คนเกิดผูกดวงชะตา แล้วสังเกตเรื่องประวัติของตัวคนประกอบกับดวงชะตาตั้งเป็นตัวอย่างไว้ มีตัวอย่างมากขึ้นนานมาก็เกิดตำราพยากรณ์ดวงชะตาว่าจะเป็นคนดีชั่วอย่างไร แล้วเลยเลื่อนเปื้อนต่อไป มูลของการพยากรณ์ดูงอกมาแต่ประดิทินทั้งนั้น

๒) ทางที่ผ่านร้อนเย็นของเรือนไทย ที่นายสันเดรสกีสังเกตว่าเปิดความร้อนให้ออกทางชายคานั้นเขาว่าดีอยู่ แต่หม่อมฉันไม่เคยคิด หม่อมฉันเคยสังเกตแต่ว่าเอาความเย็นขึ้นทางพื้นเรือน ๆ ไทยจึงทำใต้ถุนโปร่ง จะให้ลมพัดผ่านในใต้ถุนส่งความเย็นขึ้นไปบนเรือนทางแนวฟาก หรือแนวกระดานพื้นประกอบกับความสังเกตของสันเดรสกีก็ตรงกับวิทยาศาสตร์ซึ่งเรียกว่า Air Circulation คือต้องมีทั้งทางความร้อนออกและทางความเย็นเข้าแทน เรื่องนี้หม่อมฉันตระหนักใจด้วยเคยมีเหตุที่ “เรือนต้น” ของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แรกสร้างทำใต้ถุนโปร่งตรงตามแบบ ภายหลังมาทำฝารอบใต้ถุนแก้เป็นห้องให้คนอยู่ ก็เกิดเป็นไข้กันบนเรือนต้น เพราะปิดทางลมเย็นขึ้นเรือนนั่นเอง หม่อมฉันเคยเห็นเขาทำทาง Air Circulation ชอบกลแห่ง ๑ ที่โรงอวดรูปภาพ ณ เมืองเวนิส เขาทำเป็นท่อใหญ่ไว้ใต้ถุนพื้นตรงทางเดินตลอดหลัง เปิดช่องมีเหล็กตารางปูเป็นระยะเมื่อเวลาหม่อมฉันไปเป็นฤดูร้อน เขาหมุนพัดลมส่งลมเย็นขึ้นทางช่องเหล่านั้นให้ในตึกเย็น เขาบอกว่าถึงฤดูหนาวเปลี่ยนเป็นส่งไอร้อนขึ้นทางช่องเดียวกันนั้นเองให้อุ่นที่ในตึก โรงหนังฉายอย่าง Air Circulation ที่ชอบสร้างกันใหม่ก็น่าจะทำทำนองเช่นนั้น แต่ทางประเทศเราไม่มีฤดูหนาวจัดถึงต้องการอบอุ่นจึงเป็นแต่ให้ความเย็น ถึงกระนั้นก็คงต้องมีทางไล่ความร้อนออกด้วย ก็เมืองปีนังมีโรงหนังฉายปรับอากาศอย่างว่า ๒ โรง ไปนั่งดูหนังสบายดีกว่าโรงที่ใช้พัดหมุนส่งลมลงมาเป่าบนหัว

๓) เรื่องสีต่างๆ ที่ทาเรือนนั้นชอบกลนักหนา หม่อมฉันเคยเห็นในหนังสือฝรั่งแต่งเรื่อง ๑ เขาว่าสีต่างๆ อาจจะกระทบเส้นประสาทของผู้ดูให้เกิดอารมณ์ได้ต่างๆ เป็นฝ่ายข้างยินดีบ้างยินร้ายบ้าง เขายกอุทาหรณ์ห้ามมิให้ใช้สีฉูดฉาด เช่นสีแดงเป็นต้น ทาฝาห้องรักษาคนเสียจริต ในภาษาไทยก็มีคำว่า “บาดตา” แต่มัก ใช้เป็นชมโฉมว่า “งามจนบาดตา” แต่ตัวความตามศัพท์ตรงกับว่าเมื่อเห็นเกิดทุกเวทนา เพราะอาการที่บาดไม่มีที่จะเกิดความสุข ก็คือว่ากระเทือนถึงเส้นประสาทนั่นเอง แต่เห็นจะชี้ลงเป็นตำราไม่ได้ว่าสีไรบาดตาและสีไรไม่บาดตา เพราะความชอบใจมนุษย์ต่างกัน ทูลตามอารมณ์ของหม่อมฉันเองเมื่อแลเห็นเรือนใหม่บางหลังรู้สึกว่าประสานสีดู “น่ากิน” บางหลังรู้สึก “คลื่นไส้” บอกได้เพียงเท่านั้น แต่กระบวนประสานสีหม่อมฉันนึกว่าญี่ปุ่นเขาประสานดีมาก นักไม่ได้ว่าเคยเห็นของญี่ปุ่นสิ่งใดประสานสีบาดตาเลย ไทยเราแต่โบราณดูถือคติทำตามแบบไม่ยักเยื้องเปลี่ยนแปลง ได้เห็นชินตาถึงกระทบเส้นประสาทก็ไม่ทำอารมณ์ให้เปลี่ยนแปลง แต่มาถึงสมัยใหม่ชอบประสานสีต่างๆ ไม่เป็นกฎเป็นเกณฑ์จึงเกิดบาดตา

จะทูลเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับความคุ้นเคยของหม่อมฉันต่อไป เมื่อรัชกาลที่ ๗ หม่อมฉันป่วยครั้งหนึ่งต้องนอนแซ่วอยู่หลายวัน เลดีมารีตอเมอภรรยาราชทูตอังกฤษไปเยี่ยม แกเอาดอกกล้วยไม้ปักขวดไปให้ หม่อมฉันให้ตั้งไว้ข้างหน้าเก้าอี้ที่หม่อมฉันนอน เพราะไม่มีอะไรอื่นที่จะทำก็นอนมองๆ ดูดอกกล้วยไม้ในขวดนั้น ยิ่งดูไปก็ยิ่งเห็นงามจนเพลิดเพลิน เกิดความคิดขึ้นว่ามนุษย์คิดประสานสีต่างๆ สู้ธรรมชาติประสานไว้กับดอกไม้ไม่ได้ เลยเข้าใจต่อไปว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นประเพณีที่ชอบเอาดอกไม้ไปให้คนเจ็บ เพราะนอนชมดอกไม้ได้ความสุขแก่คนไข้

เรือนสีชมพูที่ในอินเดียนั้นหม่อมฉันได้เคยเห็น อยู่ที่เมืองชัยบุระ ประเทศราชอังกฤษเรียกว่า Palace of the wind ตรงกับชื่อพระวิมานวังหน้าว่า “วายุสถาน” อยู่ริมถนนหลวงเป็นตำหนักใหญ่ของมหาราชก่ออิฐถือปูนสูงหลายชั้น แต่สัณฐานบางเหมือนอย่างเป็นแผ่น เห็นจะสำหรับให้รับลมเต็มด้านจึงเรียกว่าวายุสถาน ผนังทาสีชมพูลวดลายเป็นสีขาว เป็นของแปลกน่าดูด้วยเป็นตึกแบบอินเดียแท้ และเป็นสง่าเห็นตระหง่านอยู่ในเมืองนั้น เห็นจะมีรูปฉายอยู่ในสมุดภาพอินเดียที่หม่อมฉันถวายท่านเล่ม ๑ แต่ตึกอื่นในเมืองชัยบุระดูไม่ทาสีชมพูไปทั้งเมือง ที่ว่า เป็นเมืองสีชมพูนั้นเห็นจะเกินไป

หนังสือเรื่องแหลมอินโดจีนสมัยโบราณที่พระยาอนุมานแต่งนั้นหม่อมฉันมีอยู่ที่นี่แล้ว ไม่ต้องทรงหาส่งมาประทาน แต่ขอบพระคุณซึ่งทรงพบหนังสือแปลกตรัสบอกมาให้ทราบ ขอให้ทรงบอกอย่างนี้ต่อไป

๕) ที่ตรัสถามถึงความเกี่ยวพันของพระยาจินดารักษ์ (จำลอง สวัสดิ-ชูโต) กับ สกุลอมาตยกุลนั้นหม่อมฉันพอจะทูลได้ พระยาจินดารักษ์เป็นบุตรของพระยาสุรนาทเสนี (เป๋า สวัสดิ-ชูโต) แต่งงานกับนางสาวเสมอ อมาตยกุล นางสาวเสมอเป็นธิดา ของพระยาภูบาลบันเทิง (ประยูร) บุตรพระยาเพชร์พิชัย (เจิม) เป็นพี่ของเยาวเรศภรรยานายอรุณ อมาตยกุล คุณหญิงตระกุลภูบาลบันเทิง มารดาของนางสาวเสมอก็เป็นพี่นายอรุณ นางสาวเสมอจึงเป็นญาติสนิททั้งนายอรุณและเยาวเรศ นายอรุณกับเยาวเรศไม่มีบุตรธิดา คุณหญิงกับพระยาจินดารักษ์ได้รับอุปฐากมาช้านาน นายอรุณกับเยาวเรศจึงมอบเวรสมบัติให้พระยากับคุณหญิงจินดารักษ์เป็นทายาทด้วยประการฉะนี้

เบ็ดเตล็ด

๖) หม่อมฉันคิดจะพิมพ์หนังสือช่วยงานศพ คุณท้าววรจันทร ตั้งให้หญิงจงไปปรึกษาพระองค์ธานี ในการเลือกเรื่องหนังสือ พระองค์ธานีเธออยากให้พิมพ์เรื่อง “ตำนานพิธีตรุษ” ที่หม่อมฉันถวายท่านไป เพราะฉะนั้นหม่อมฉันขอประทานยืมต้นฉบับให้หญิงจงเอาไปใช้ในการพิมพ์ เพราะจะคัดส่งไปใหม่ลำบากนัก หม่อมฉันเชื่อว่าท่านคงจะพอพระหฤทัย ด้วยเคยตรัสอยู่ว่าไม่อยากให้หนังสือเป็นหมัน

๗) เมื่อเร็วๆ นี้ “สมาคมค้นวิชาประเทศไทย” เขาส่งวารสารของสมาคมซึ่งแรกพิมพ์เป็นภาษาไทยมายังหม่อมฉัน เห็นมีพระนิพนธ์ของท่านอยู่ในนั้นด้วย และหม่อมฉันได้ทราบว่าสมาคมนั้นเขาเชิญเสด็จท่านเป็นสมาชิกกิติมศักดิ์ด้วยก็ยินดี

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ